วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

สยามหัวเราะ




ที่ประเทศเดนมาร์ค มีการยอมรับให้หัวเราะบำบัด เป็นยารักษาโรคตามวิถีแพทย์ทางเลือก และเพื่อให้หัวเราะบำบัดเป็นศาสตร์ของคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ จึงได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยเมื่อราว 4 ปีที่ผ่านมา ได้นำหัวเราะบำบัดแบบสากลมาผสมผสานกับภูมิปัญญาของประเทศ เกิดเป็นเอกลักษณ์ใหม่ในชื่อ "สยามหัวเราะ" หรือ Laughter Siam

"สยามหัวเราะ" หัวเราะบำบัดแบบไทย

"สยามหัวเราะ" ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ 4 ทาง คือ ทางร่างกาย เมื่อทุกเซลล์ในร่างกายถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว การทำงานทุกระบบภายในร่างกายจะดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาสมองซีกขวา ที่ควบคุมเรื่องสุขภาพและสุนทรียภาพทางอารมณ์ เช่น ดนตรีหรือศิลปะ ทำให้สมองโล่ง ไม่เครียดหรือยึดติดกับเรื่องเก่า ๆ พร้อมรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ทางอารมณ์ ทำให้มีอารมณ์ที่หนักแน่นมั่นคงและปล่อยวางได้มากขึ้น ทางสังคมช่วยให้ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ยิ้มแย้มแจ่มใส บรรยากาศในสังคมดีขึ้น และทางจิตวิญญาณ เป็นการสร้างพลังชีวิต ให้ชีวิตมีชีวา โดย "สยามหัวเราะ" มีท่าพื้นฐาน 4 ท่า คือ

ท้องหัวเราะ หัวเราะออกเสียง "โอ" เอาสองมือวางทาบที่ท้อง พร้อมขยับท้องขึ้นลง เวลาขยับตัวขึ้นมือก็จะขึ้นตาม ช่วยนวดบริเวณท้อง เป็นการกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีอาการท้องผูกและกรดไหลย้อนหากทำท่านี้ประจำอาการจะดีขึ้น

อกหัวเราะ หัวเราะออกเสียง "อา" พร้อมขยับอกขึ้นลง ช่วยคลายกล้ามเนื้อช่วงอก ลดอาการกล้ามเนื้อเครียด เป็นการกระตุ้นหัวใจ ช่วยยืดหลังให้ตรง และที่สำคัญเป็นการป้องกันโรคหัวใจ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านมได้ด้วย เพราะการขยับช่วงอก จะทำให้ปอดและหน้าอกหรือเต้านมได้เคลื่อนไหว ไม่เป็นพังผืดและตึงกระชับ

คอหัวเราะ หัวเราะออกเสียง "อู" พร้อมใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ดันช่วงคอออกไปข้างหน้า ให้แขนแนบขนานลำตัว รักแร้และกล้ามเนื้อข้างลำตัวจะถูกแขนถูจนเกิดความร้อน เป็นการขับสารเคมีที่ผิดปกติออกจากผนังปอดได้อีกทางหนึ่ง

และสุดท้าย หน้าหัวเราะ หัวเราะออกเสียง "เอ" ใช้นิ้วทั้งสิบขยับสลับกันไปมานวดไปบนหน้า เป็นการฝึกประสาทสมอง และผ่อนคลายทั่วใบหน้า

นอกจากนี้ยังมีท่า มือหัวเราะ สะโพกหัวเราะ ไหล่หัวเราะ ตาหัวเราะ จมูกหัวเราะ และ หูหัวเราะ เพื่อให้ร่างกายได้ออกกำลังกายทุกส่วนพร้อมเสียงหัวเราะอีกด้วย

จุดเด่นของสยามหัวเราะที่หัวเราะบำบัดทั่วโลกไม่มี คือ หลังจากทำท่าหัวเราะต่าง ๆ ไปแล้วจนรู้สึกผ่อนคลายและหัวเราะได้อย่างอิสระ หรือเรียกว่าถึงจุดพีค ผู้บำบัดจะถูกให้หยุดหัวเราะทันที เพื่อไม่ให้เกิดการหัวเราะจนเตลิด ให้เกิดการสำรวจร่างกาย ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น มีสติในการดูแลรักษาร่างกาย เกิดการรู้ทันตนเอง (Self awareness) ที่ผู้บำบัดจะรู้สึกได้ด้วยตัวเอง

เพราะสยามหัวเราะ เป็นการหัวเราะพร้อมออกกำลังกายในระดับเซลล์ จึงมีรายงานว่าช่วยรักษาอาการโรคฮิตคนเมืองอย่างกรดไหลย้อน ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม ลดความอ้วน ช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบเจริญพันธุ์ เรียกได้ว่า เมื่อร่างกายทุกส่วนตื่นตัว กลไกการทำงานของร่างกายก็จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โรคภัยไข้เจ็บจึงไม่เกิดนั่นเอง

หัวเราะต้านหวัด 2009

เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม จึงได้คิดค้นท่าออกกำลังกายเพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน พร้อมกระตุ้นสมองได้ 2 ซีกพร้อมกัน เป็นการต่อยอดจากสยามหัวเราะ ท่าออกกำลังกายนี้ ทำเพียงวันละครั้ง ครั้งละ 1 นาที ภายใต้สโลแกนที่ว่า "ออกกำลังสมองวันละ 1 นาที สุขภาพดี ชีวีมีขำ"

ก่อนทำท่านี้ให้นึกถึงภาพของหนุมาน จากนั้น เริ่มด้วยการยืนแยกขาออกจากกันพอประมาณ ย่อตัวลงเล็กน้อย ชูมือขึ้นระดับศีรษะ ขยับขาขึ้นลงซ้ายขวาสลับกับมือและแขน พร้อมกันนั้นต้องกำมือแล้วคลายออกสลับไปด้วย และต้องไม่ลืมโยกย้ายร่างกายและขยับกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ บนใบหน้าอย่างเบิกบานด้วย เพียงวันละ 1 นาที ท่าทางที่ตลกนี้จะทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สนุก ได้ออกกำลังร่างกายทุกส่วน เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และการขยับมือเท้าสลับกันยังช่วยกระตุ้นสมองทั้งสองซีกด้วย ที่สำคัญท่านี้ไม่ต้องเปล่งเสียงหัวเราะ ไม่ต้องใช้เวลานาน ไม่ใช้อุปกรณ์หรือสถานที่ เป็นการออกกำลังกายแบบลงทุนน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก

จากการใช้ท่าออกกำลังกายนี้บำบัดเด็กติดเกมใน 15 โรงเรียน พบว่าเด็กกว่าครึ่งหนึ่งหายจากอาการติดเกม และตั้งใจเรียนหนังสือมากขึ้น ที่สำคัญ เด็กไม่เบื่อเพราะใช้เวลาน้อยและสนุก

เสียงหัวเราะกับน้ำในร่างกาย

หัวเราะบำบัดหรือสยามหัวเราะเป็นวิธีหนึ่ง ที่จะเข้าไปช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายทุก ๆ ส่วนตั้งแต่ระดับเซลล์ และกระตุ้นให้น้ำในเซลล์เกิดสมดุล และทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนการทำน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาด เพราะเมื่อเราเครียดหรือมีความทุกข์ สมองจะหลั่งสารเศร้าออกมาผ่านทางของเหลวในร่างกาย อาทิ อะดรีนาลีน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสารกดดัน และ คอร์ติซอล ที่จำง่าย ๆ ว่าสารเศร้าหรือสารเครียด และวิธีการเดียวที่จะขจัดความเครียดและซึมเศร้าออกจากร่างกายได้คือ "การหัวเราะ" เพราะเมื่อเราหัวเราะร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ไม่ว่าจะเป็น เอนดอร์ฟิน หรือมอร์ฟีน เพิ่มความสุขตามธรรมชาติ เซโรโทนิน หรือสารปราศจากเครียด และ โดปามีน หรือสารหรรษา เป็นกลไกการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่นิดเดียว

จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการหัวเราะนั้นมีมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมให้ความสำคัญกับการหัวเราะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายจากภายในด้วยหัวเราะบำบัด หรือสยามหัวเราะ ที่นอกจากจะได้ความสุข รอยยิ้มและเสียงหัวเราะแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรงสมบูรณ์อีกด้วย



วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

ตำนานนางสงกรานต์


ตำนานนางสงกรานต์
ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[1] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน

ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้

ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)

ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)

ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า

วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
วันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

ที่สำคัญอิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมาจะเป็นการบอกถึงช่วงเวลาพระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษเวลาใดของวันมหาสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ซึ่งมีด้วยกัน 4 ท่า
ยืนบนพาหนะ หมายถึง พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษในระหว่างเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง

นั่งบนพาหนะ หมายถึงช่วงเที่ยงจนถึงค่ำ
นอนลืมตาบนพาหนะ หมายถึงช่วงค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน
นอนหลับตาบนพาหนะ หมายถึงเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า

ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์นั้น กล่าวกันว่า ถ้ายืนมาจะเกิดความเดือดร้อน เจ็บไข้ ถ้านั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และถ้านอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น